การอนุรักษ์และการถ่ายทอด
ส่วนในด้านการอนุรักษ์และถ่ายทอด ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวนโยบายของรัฐบาล ทำให้ชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาของท้องถิ่น มีการเชิญให้ผู้ประกอบการเป็นวิทยากรสอนความรู้แก่นักเรียนในชุมชนและผู้สนใจทั่วไป จนกระทั่งบางโรงเรียนสร้างเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการทอเสื่อให้แก่นักเรียนดังที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการทอเสื่อ ซึ่งขั้นตอนหรือวิธีการที่สำคัญๆ มีดังนี้1. การปลูกกกหรือทำนากก นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัสดุในการทอเสื่อ โดยเตรียมที่ดินด้วยการไถ แล้วปักดำหัวกกลงในนาเหมือนการดำนาข้าว จากนั้นมีการบำรุงรักษา ถอนหญ้า ใส่ปุ๋ย ปลูกแซม ด้วยเวลา ๓-๔ เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้
2. การตัดกก จะใช้มีดเล็กตัดเกือบถึงโคนต้นกก แล้วนำมากองเรียงเพื่อคัดแยกขนาด ตั้งแต่ความยาว ๙ คืบ ๘ คืบ เรื่อยลงมาจนถึง ๔ คืบ จากนั้นนำแต่ละกองที่มีขนาดเท่ากันมัดเก็บไว้ด้วยกัน ตัดดอกทิ้งเพื่อทำการกรีดเป็นเส้น
3. การกรีดจะใช้มีดปลายแหลมที่ทำมาจากใบเลื่อย กรีดแบ่งครึ่งกกแต่ละเส้นถ้าเป็นต้นเล็ก ถ้าเป็นต้นใหญ่ก็กรีดเหมือนกัน แต่จะมีส่วนที่กรีดทิ้ง เพื่อให้แห้งง่าย
4. หลังจากได้เส้นกกแล้ว ก็นำไปตาก โดยแผ่วางเรียงเป็นแนวยาว วันแรกจะตากเต็มวัน จากนั้นนำมามัดเป็นมัดเล็กๆ แล้วตากอีกราว ๒ วัน ให้เส้นกกนั้นแห้ง
5. การย้อมสี นำกกที่ตากแห้งแล้วมามัดแช่น้ำราว ๑๐ ชั่วโมง เพื่อให้เส้นกกนิ่ม จากนั้นต้มน้ำให้เดือด ใส่สีย้อม แล้วนำเส้นกกที่มัดเป็นกำแช่ลงไปในน้ำสีที่กำลังเดือดทิ้งไว้ ๑๐-๑๕ นาที จึงนำไปแช่น้ำ แล้วนำขึ้นตากในที่ร่มมีลมพัดผ่าน ๓-๔ วัน เมื่อเส้นกกสีแห้ง ก็สามารถนำไปใช้ในการทอได้
6. การทอจะร้อยเส้นเอ็นกับฟืมเป็นเส้นยืนตามขนาดของคืบที่กำหนด แล้วใช้เส้นกกใส่กระสวยทอเรียงเป็นเส้นนอนคล้ายการทอผ้า การใส่ลายสีในการทอนิยมใส่ตอนแรก และตอนสุดท้ายของการทอ เมื่อจะเต็มผืน
7. เมื่อทอได้เต็มผืนก็มัดริมเสื่อ ตัดเสื่อออกจากกี่ และตัดริมอีกครั้งพร้อมแต่งเสื่อให้มีความเรียบร้อยสวยงาม
ส่วนราคาในการขาย ถ้าเป็นเสื่อธรรมดา ๕ คืบ ผืนละ ๘๐ บาท, ๖ คืบ ผืนละ ๑๐๐ บาท, ๗ คืบ ผืนละ ๑๒๐ บาท, ๘ คืบ ผืนละ ๑๕๐ บาท และ ๙ คืบ ผืนละ ๑๘๐ บาท ถ้าเป็นเสื่อสีจะทำตั้งแต่ ๗ คืบ ในราคาผืนละ ๒๕๐ บาท, ๘ คืบ ผืนละ ๓๐๐ บาท และ ๙ คืบ ผืนละ ๓๕๐ บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น